บันทึก
กฏแห่งกรรมยุควิทยาศาสตร์
แปลและเรียบเรียงโดย ศุภนิมิต
คำนำ
ระยะหลังหลายปีมานี้ ข้าพเจ้าไม่ใคร่จะทำหนังสือเกี่ยวกับกฏแห่งกรรม
เหตุผลประการที่หนึ่ง ก็ด้วยเห็นว่า มีหนังสือประเภทนี้มากมายแล้วในตลาดหนังสือทั้งทางโลกและทางธรรม
ประการที่สอง ก็ด้วยจากการประเมินผล พิจารณาเห็นว่าผู้ที่ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวบทตอนที่น่าเร้าใจของท้องเรื่อง
แม้ท่านผู้อ่านจะได้ข้อคิดจากกฏแห่งกรรมตามเรื่องราวนั้น ๆ บ้าง ซึ่งมีผลทำให้ได้ระงัยยับยั้งการกระทำผิดบาปของตนได้บ้าง แต่มีข้อเสียคือ อ่านแล้ว "ติด" ติดหนังสือประเภทนี้เหมือนติดนวนิยาย หนังสือธรรมะในเชิงคติพจน์ พระคัมภีร์ ธรรมสาระต่าง ๆ หากกองรวมกันไว้กับหนังสือกฏแห่งกรรม คนส่วนใหญ่ชอบที่จะหยิบอ่านกฏแห่งกรรมก่อนเล่มอื่นใด ทำให้คิดว่า "นี่เรากำลังมอมเมาเขา" ให้หลงอยู่ในกระแสสังสารวัฏฏ์ หรือ "กำลังตรึงเขาไว้" ในภาวะของผู้รู้ตื่นเพียงขีดขั้นของผู้สำนึกรู้ว่า "กฏแห่งกรรมมีจริงเท่านั้น" "องค์สมเด็จพระกตธิการ บรมอริยธรรมราชเจ้า ผู้เฒ่าน้ำใส" (น้ำใสบรมอริยะ) โปรดตักเตือนชาวเราอยู่เสมอว่า
"บำเพ็ญธรรม บำเพ็ญใจ"
"บำเพ็ญใจให้เข้าถึงวิถีอนุตตรธรรม"
"ให้เข้าถึงภาวะจิตใสใจสว่างแห่งตน"
แน่นอน ภาวะนั้นก็มิใช่ "ติด" อยู่แค่เรื่องราวของ "กฏแห่งกรรม" แต่ครั้งนี้ ข้าพเจ้าขัดไม่ได้ที่จะต้องแปลเรียบเรียง "กฏแห่งกรรมในยุควิทยาศาสตร์" เล่มสองตามมา เนื่องจากท่านเจ้าของเค้าโคลงเรื่องคือ อาจารย์โง้วกิมเพียว ซึ่งสนิทรักใคร่ประหนึ่งพี่น้อง ท่านเขียนเรื่องไทย ๆ เป็นจีน ลงหนังสือพิมพ์จีน เป็นที่นิยมชมชอบของชาวจีนเป็นอันมาก ชาวจีนก็ใคร่จะให้ลูกหลานที่อ่านหนังสือจีนไม่ออกได้รู้เรื่องราวบทเรียนเหล่านี้บ้าง เรื่องไทย ๆ จึงต้องแปลจากจีนมาเป็นไทยอีกคำรบหนึ่ง ดังนี้ ข้าพเจ้ายังตั้งความหวังไว้ว่า หนังสือกฏแห่งกรรมจะเป็นเพียงบันไดขั้นแรกที่ช่วยปลุกท่านให้ตื่นขึ้นจากการใช้ชีวิตตามความเคยชินทางโลก แต่เมื่อท่านตื่นขึ้นจากทางโลกแล้ว ขอท่านจงโปรดทอดสายตาให้ลึกซึ้งกว้างไกลไปถึงหลักสัจธรรมวิถีจิตเพื่อการบรรลุธรรม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวเราผู้ยินดีในการปฏิบัติบำเพ็ญจริง ข้าพเจ้าก็จะไม่ต้องผิดต่อความรู้สึกที่ว่า "กำลังมอมเมาหรือตรึงท่านไว้" ขอท่านทั้งหลายจงเจริญธรรม
ด้วยความปรารถนาดีเป็นที่ยิ่ง
ศุภนิมิต